21st Century General Education Courses (Physics)

ในปีการศึกษา 2560 นี้ วิชา GenEd ทั้งสองนี้จะเปิดเป็นครั้งแรก อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาในบางส่วนให้สอดคล้องกับนิสิตผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนได้รู้สึกสนุกที่จะเรียนรู้มากยิ่งขึ้น โดยผู้สอนจะพยายามเน้นการลองปฏิบัติให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุด

สำหรับผู้สอนเองแล้ว แบ่งการสอนฟิสิกส์ในระดับมหาวิทยาลัยออกเป็น 3 กลุ่มคือ

  • การสอนฟิสิกส์สำหรับนักฟิสิกส์ เพื่อไปเป็นนักฟิสิกส์ หรือประกอบอาชีพอื่น ๆ ที่สามารถใช้ทักษะที่ได้จากการเรียนมาเป็นพื้นฐาน
  • การสอนฟิสิกส์สำหรับงานด้านอื่น ๆ (เช่น วิศวกร แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ...) เพื่อให้เข้าใจหลักการพื้นฐานทางฟิสิกส์ที่ "ซ่อน" อยู่เบื้องหลังงานด้านนั้น ๆ (เช่นหลักการทำงานของเครื่องมือ เครื่องวัดต่าง ๆ)
  • การสอนฟิสิกส์สำหรับคนทั่วไป ให้มองสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา ซึ่ง GenEd ตอบโจทย์ในข้อนี้ โดยการสอนไม่มุ่งเน้นการใช้คณิตศาสตร์ที่มากเกินกว่าพีชคณิตพื้นฐาน (บวก, ลบ, คูณ, หาร) ในการเข้าใจปัญหา และรูปแบบการแก้ปัญหา

2398130 Muggle Mechanics

สั้น ๆ กับวิชานี้

วิชานี้ก็คือวิชากลศาสตร์(*) ในมุมมองของคนที่อาจจะไม่คุ้นเคยกับวิชานี้มาก่อน (เทียบกับคนที่มีเวทมนตร์ที่พยายามจะเข้าใจการอธิบายปรากฎการณ์ต่าง ๆ หรือสิ่งประดิษฐ์ของคนที่ไม่มีเวทมนตร์ ถ้าจะพูดให้สาวกแฮรี่ พอตเตอร์เข้าใจง่าย ๆ ว่าวิชานี้ก็คือวิชามักเกิ้ลศึกษา แต่มุ่งเน้นไปที่แนวคิดฟิสิกส์พื้นฐานนั่นเอง)

(*) กลศาสตร์คือวิชาที่ว่าด้วยพฤติกรรมของวัตถุทางกายภาพเมื่อมีแรงมากระทำ หรือเมื่อเกิดการกระจัดขึ้น รวมถึงผลกระทบของวัตถุทางกายภาพนั้นกับสภาพแวดล้อม

เหตุผลในการขอเปิด

การเรียนการสอนฟิสิกส์ในระดับชั้นมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัยในประเทศไทยในปัจจุบัน มุ่งเน้นการศึกษาโดยการมองระบบต่าง ๆ ด้วยทฤษฎีพื้นฐานและสูตรทางฟิสิกส์ โดยพยายามทำให้ผู้เรียนสามารถบรรยายระบบเหล่านั้น และทำนายพฤติกรรมได้จากแบบจำลองทางฟิสิกส์ หากแต่ขาดการเชื่อมโยงเข้ากับชีวิตจริง หรือสิ่งของต่าง ๆ รอบตัว จึงทำให้ผู้เรียนหลาย ๆ คนไม่สามารถเข้าถึงแก่นแท้ของวิชาฟิสิกส์ได้ ในวิชานี้ผู้สอนจะเปลี่ยนวิธีการมองฟิสิกส์ โดยเริ่มต้นจากการยกตัวอย่างสิ่งของต่าง ๆ รอบตัวขึ้นมามองในมุมมองของคนที่ไม่รู้ฟิสิกส์มาก่อน มีการสอนกระบวนการคิด วิเคราะห์ตามหลักวิทยาศาสตร์ มีการทำการทดลองพื้นฐาน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจในหลักการของฟิสิกส์พื้นฐานต่าง ๆ ได้โดยใช้เพียงพีชคณิตเบื้องต้น กลศาสตร์พื้นฐาน และอุณหพลศาสตร์เบื้องต้น

เนื้อหารายวิชา

ประวัติศาสตร์ฟิสิกส์ของมักเกิล ปริมาณพื้นฐานทางกายภาพ การเคลื่อนที่ของวัตถุ การตกของวัตถุ การหมุน การชน ของไหล อุณหภูมิและการเปลี่ยนสถานะของสสาร การสั่นและคลื่นกล

เนื้อหารายวิชาต่อสัปดาห์

  • สัปดาห์ที่ 1: การตั้งคำถาม การทดลอง การบรรยายคุณสมบัติของสิ่งของรอบตัว ประวัติศาสตร์ของการศึกษาฟิสิกส์ของมักเกิ้ล
  • สัปดาห์ที่ 2, 3, 4: การเคลื่อนที่เบื้องต้น (ทางลาด พื้นเอียง สเก็ต การตกของลูกบอล กระดานหก ล้อ รถบั้ม)
  • สัปดาห์ที่ 5, 6, 7: วัตถุกล (ฟิสิกส์ในของเล่น ฟิสิกส์ในสวนสนุก จรวดและการท่องอวกาศ)
  • สัปดาห์ที่ 8, 9, 10: ของไหล (บอลลูน การเคลื่อนที่ของน้ำ การรดน้ำต้นไม้ อากาศในลูกบอล เครื่องบิน)
  • สัปดาห์ที่ 11, 12: ความร้อนและการเปลี่ยนสถานะ (กองไฟ น้ำแข็ง-น้ำ-ไอน้ำ เสื้อกันหนาว บ้านกันความร้อน)
  • สัปดาห์ที่ 13: อุณหพลศาสตร์ (เครื่องปรับอากาศ เครื่องยนต์)
  • สัปดาห์ที่ 14, 15: การเคลื่อนที่แบบคาบและคลื่นกล (นาฬิกาลูกตุ้ม เครื่องดนตรี ทะเล แผ่นดินไหว)

2398131 Physics in Films

สั้น ๆ กับวิชานี้

วิชานี้ก็คือวิชาที่จะพูดถึงฟิสิกส์ที่สามารถเรียนรู้ได้จากภาพยนตร์ต่าง ๆ ได้เห็นถึงจินตนาการต่าง ๆ ของนักเขียนหรือผู้สร้างหนัง ที่หลาย ๆ ครั้งสามารถเกิดขึ้นได้จริงเมื่อเวลาผ่านมา

เหตุผลในการขอเปิด

การเรียนการสอนฟิสิกส์ในระดับชั้นมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัยในประเทศไทยในปัจจุบันประสบปัญหาอย่างมาก มีนักเรียนและนักศึกษาจำนวนมากรู้สึกว่าวิชาฟิสิกส์เป็นวิชาที่ยากเนื่องจากรูปแบบการสอนในปัจจุบัน วิชานี้จึงถูกออกแบบมาเพื่อให้นิสิตที่เรียนและไม่ได้เรียนในสายวิทยาศาสตร์ได้เข้าใจหลักการพื้นฐานและปริมาณทางฟิสิกส์จากภาพยนตร์ ให้นิสิตได้เห็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยนิสิตจะเริ่มฝึกฝนจากกระบวนการทำความเข้าใจปัญหา และสามารถประมาณคำตอบโดยไม่ต้องใช้การคำนวณที่ซับซ้อน จากนั้นนิสิตจะฝึกฝนการวิเคราะห์ปริมาณทางฟิสิกส์ที่ซ่อนอยู่ในภาพยนตร์ และสามารถบอกได้ว่าภาพยนตร์นั้นมีความสมจริงมากเพียงใดจากความรู้ทางฟิสิกส์ในปัจจุบัน โดยในการวิเคราะห์นั้นนิสิตไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางคณิตศาสตร์ชั้นสูง เช่น แคลคูลัส นิสิตสามารถจะใช้หลักการของความน่าจะเป็น และพีชคณิตเบื้องต้นในการวิเคราะห์ปัญหาได้อย่างเหมาะสม

เนื้อหารายวิชา

การประมาณของเฟอร์มิ ฟิสิกส์ในภาพยนตร์ต่อสู้และยอดมนุษย์ ได้แก่ การเคลื่อนที่ของวัตถุ ฟิสิกส์ในภาพยนตร์ผจญภัย ได้แก่ ไฟฟ้า แม่เหล็ก คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ฟิสิกส์ในภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ได้แก่ เทคโนโลยีนิวเคลียร์ เครื่องเร่งอนุภาค ฟิสิกส์ยุคใหม่

เนื้อหารายวิชาต่อสัปดาห์

  • สัปดาห์ที่ 1: ประวัติศาตร์ของเทคโนโลยียุคใหม่ ที่มีแนวคิดในภาพยนตร์มาก่อน การคำนวณพื้นฐานโดยใช้หลักการประมาณของเฟอร์มิ (Fermi Estimation)
  • สัปดาห์ที่ 2, 3, 4: วิเคราะห์ภาพยนตร์ต่อสู้และยอดมนุษย์ (Action and superhero movies)
  • สัปดาห์ที่ 5, 6, 7: วิเคราะห์ภาพยนตร์ผจญภัย (Adventure movies)
  • สัปดาห์ที่ 8, 9, 10: วิเคราะห์ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ (SciFi movies)
  • สัปดาห์ที่ 11: วิเคราะห์ภาพยนตร์เกี่ยวกับจรรยาบรรณทางวิทยาศาสตร์จากภาพยนตร์
  • สัปดาห์ที่ 12, 13, 14, 15: รายงานผลการศึกษาด้วยตนเอง ทบทวนบทเรียน

-- PhatSrimanobhas - 2017-07-29-10:16

Edit | Attach | Watch | Print version | History: r1 | Backlinks | Raw View | WYSIWYG | More topic actions
Topic revision: r1 - 2017-07-29 - PhatSrimanobhas
 
    • Cern Search Icon Cern Search
    • TWiki Search Icon TWiki Search
    • Google Search Icon Google Search

    Main All webs login

This site is powered by the TWiki collaboration platform Powered by PerlCopyright &© 2008-2024 by the contributing authors. All material on this collaboration platform is the property of the contributing authors.
or Ideas, requests, problems regarding TWiki? use Discourse or Send feedback